ซิกมันด์ ฟรอยด์ (sigmund freud)

ประวัติ  ซิกมันด์ ฟรอยด์ (sigmund freud)

sigmund-freud-ซิกมันด์-ฟรอยด์

ซิกมันด์ ฟรอยด์ เกิดที่แคว้นโมราเวีย ตอนเขาอายุ 3 ข วบ ครอบครัวของเขาย้ายไปยังกรุงเวียนนา เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จนกระทั่งปีท้ายๆ ของชีวิต ฟรอยด์เข้าศึกษาที่สำนักการแพทย์ของมหาวิทยาลัยเวียนนาตอนอายุ 17 ปี เขาสนใจการศึกษาหลากหลายสาขาของที่นี่ แม้ว่าฟรอยด์จะสนใจการวิจัยทางประสาทวิทยาเป็นหลัก แต่เขาก็จำเป็นต้องปฏิบัติงานทางคลินิก เนื่องจากปัญหาเรื่องการว่าจ้างของมหาวิทยาลัยที่เลวร้ายมากในกรณีของเขา ซึ่งเป็นผลมาจากทัศนคติและการเมืองที่ต่อต้านชาวยิว หลังจากการทำวิจัยอิสระและทำงานทางคลินิกที่โรงพยาบาลเวียนนามามากพอสมควร ฟรอยด์ออกมาทำงานส่วนตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางประสาทและ ฮิสทีเรีย

ระหว่างช่วงเวลานี้ ฟรอยด์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธี “การปลดปล่อยอารมณ์อย่างรุนแรง” (catharsis) ของโจเซฟ บริวเออร์ (Joseph Breuer) เพื่อนร่วมงานของเขา ในการรักษาอาการฮิสทีเรีย ซึ่งอาการหายไปเมื่อผู้ป่วยระลึกถึงความทรงจำที่เป็นบาดแผลในขณะที่อยู่ภาย ใต้การสะกดจิต และทำให้ผู้ป่วยสามารถแสดงอารมณ์ดั้งเดิมซึ่งถูกเก็บกดไว้และลืมมันไป ในการค้นคว้าความคิดนี้เพิ่มเติม ฟรอยด์ใช้เวลาหลายเดือนในการศึกษาวิธีการของฌอง-มาร์ติน ชาร์โคต์ (Jean-Martin Chacot) ในการรักษาฮิสทีเรียโดยการสะกดจิต เมื่อเดินทางกลับเวียนนา ฟรอยด์เริ่มต้นงานในการค้นหาวิธีการที่คล้ายกันในการรักษาโดยไม่ใช้การสะกดจิต ซึ่งเขาพบว่ามีข้อจำกัดที่ไม่น่าพึงพอใจ นอกจากฟรอยด์จะเรียนรู้จากการสังเกตอาการและประสบการณ์ของผู้ป่วยของเขาแล้ว เขายังใช้การวิเคราะห์ตัวเองจากความฝันอย่างเข้มงวดอีกด้วย ในปี 1895 เขาและบริวเออร์ตีพิมพ์หนังสือ Studies on Hysteria ซึ่งเป็นตัวบทที่เป็นหมุดหมายสำคัญของจิตวิเคราะห์ และในปี 1900 ผลงานชิ้นสำคัญของฟรอยด์ คือ หนังสือ The Interpretation of Dreams ก็ปรากฏขึ้น

ในช่วงเวลานี้ ฟรอยด์ทำงานโดยใช้องค์ความรู้ที่สำคัญในระบบจิตวิเคราะห์ของเขา คือ การระบายออกอิสระ (free association) และการปลดปล่อยอารมณ์อย่างรุนแรง ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจจิตไร้สำนึก โดยใช้ในการค้นหาความทรงจำที่ถูกเก็บกดไว้และเหตุผลของการเก็บกดนั้น ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยรู้จักตนเองอย่างชัดแจ้งยิ่งขึ้น ผู้ป่วยที่นอนบนเก้าอี้นอนในห้องทำงานของเขาด้วยความผ่อนคลาย ถูกร้องขอให้ระบายออกทางความคิดอย่างอิสระ ซึ่งช่วยให้เกิดการตระหนักรู้ที่มีประโยชน์ และถูกร้องขอให้แสดงออกถึงสิ่งที่ปรากฏขึ้นในใจอย่างตรงไปตรงมา จากการรักษาผู้ป่วยและการวิเคราะห์ตัวเองของเขา ฟรอยด์มีความเชื่อว่าความผิดปกติทางจิตซึ่งไม่ปรากฏสาเหตุทางกายเกิดจากการตอบสนองในเชิงสัญลักษณ์ (symbolic reaction) ต่อความกระทบกระเทือนทางจิตใจ (psychological shock) โดยทั่วไปนั้นมาจากเรื่องเพศ และความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับความกระทบกระเทือนทางจิตใจเหล่านั้นจะส่งผลทาง อ้อมต่อเนื้อหาของความฝันและกิจกรรมของจิตสำนึก แม้มันจะถูกเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึกก็ตาม

ฟรอยด์ตีพิมพ์หนังสือ The Psychopathology for Everyday Life ในปี 1904 และอีก 3 เล่มในปีต่อมา เช่น Three Essay on the Theory of Sexuality ซึ่งผลักดันความคิดของเขาเกี่ยวกับพัฒนาการของสัญชาติญาณทางเพศของมนุษย์ หรือลิบิโด (libido) รวมถึงทฤษฎีลักษณะทางเพศในวัยเด็ก (childhood sexuality) และปมออดิปุส (Oedipus complex) ในขณะที่ความสนใจจากแวดวงวิทยาศาสตร์และสาธารณะชนดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ในต้นทศวรรษ 1900 ฟรอยด์ได้ดึงดูดกลุ่มคนที่สนใจงานของเขา เช่น คาร์ล ยุง (Carl Jung) อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) และออตโต แรงค์ (Otto Rank) มาพบปะเพื่ออภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นประจำทุกสัปดาห์ที่บ้านของ เขา และต่อมากลายเป็นกลุ่มที่ชื่อว่า Vienna Psychological Society แม้ว่าในที่สุดยุงและแอดเลอร์จะแยกตัวออกไปตั้งทฤษฎีและสำนักในการวิเคราะห์ ของตัวเอง แต่การสนับสนุนของพวกเขาในช่วงแรกได้ช่วยวางรากฐานให้จิตวิเคราะห์เป็นกระแสแนวคิด (movement) ที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ ในปี 1909 ฟรอยด์ได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยคล๊าก เมืองวอร์เชสเตอร์ รัฐแมซซาชูเซต โดยอธิการบดี เซอร์ จี. แสตนลีย์ ฮอลล์ (G. Stanley Hall) (1844 – 1924) นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียง และฟรอยด์ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์จากที่นี่ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ฟรอยด์มีชื่อเสียงมากขึ้นจากการที่จิตวิเคราะห์ได้รับความสนใจจากแวดวง ปัญญาชนและได้รับความนิยมจากสื่อ

ฟรอยด์เชื่อว่าบุคลิกภาพของมนุษย์ถูกกำหนดโดยพลังที่เรียกว่า “สัญชาติญาณ” (instincts) หรือ “แรงขับ” (drives) ต่อมา เขาเชื่อในการดำรงอยู่ของสัญชาติญาณแห่งความตาย (death instinct) หรือความปรารถนาในความตาย (death wish หรือ Thanatos) ทั้งความปรารถนาในความตายที่มุ่งไปยังภายนอก เช่น ความก้าวร้าว และความปรารถนาในความหมายที่มุ่งเข้าสู่ภายใน เช่น พฤติกรรมที่ทำลายตัวเอง เขาสร้างทฤษฎีที่รอบด้านในเรื่องโครงสร้างของจิต (psyche structure) โดยแบ่งโครงสร้างของจิตออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ อิด (id) ซึ่งทำงานในระดับจิตไร้สำนึก เกี่ยวข้องกับการตอบสนองความพึงพอใจในความปรารถนาขั้นพื้นฐานและการปกป้อง ตัวเอง (self-preservation). มันทำงานโดยเกี่ยวข้องกับหลักแห่งความปรารถนา (pleasure principle) และอยู่นอกขอบเขตของกฎเกณฑ์ทางสังคมและข้อกำหนดทางศีลธรรม ส่วนต่อมาคือ อีโก (ego) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุผล อีโก้ควบคุมพลังของอิดและนำมันเข้าสู่แนวทางของหลักแห่งความจริง (reality principle) และนำพลังของอิดไปสู่พฤติกรรมที่สามารถยอมรับได้ และส่วนสุดท้ายคือ ซุปเปอร์อีโก้ (superego) หรือศีลธรรม ซึ่งพัฒนาขึ้นในวัยเด็ก ซุปเปอร์อีโก้คอยสอดส่องและตรวจสอบอีโก้ ปรับเปลี่ยนค่านิยมภายนอกให้เข้าสู่ภายในบุคคล เป็นกฎแห่งการควบคุมตัวเองซึ่งใช้ในการต่อต้านอิด ฟรอยด์มองพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลว่าเป็นผลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบ ทั้ง 3 ส่วนของจิต

แก่นของโครงสร้างทางจิตของฟรอยด์ คือการเก็บกดความต้องการทางสัญชาติญาณ ที่ไม่ได้รับการตอบสนอง การเก็บกดเกิดขึ้นผ่านชุดของกลไกป้องกันตัวเอง (defense mechanisms) ในกระบวนการของจิตไร้สำนึก ฟรอยด์เป็นผู้ตั้งชื่อกลไกหลักๆ เหล่านี้ เช่น การปฏิเสธ (denial – การไม่สามารถยอมรับสิ่งที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล) การหาเหตุผลให้กับตัวเอง (rationalization – การอธิบายการกระทำของตนเองด้วยจุดมุ่งหมายที่สามารถยอมรับได้) การแทนที่ (displacement – การเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่เก็บกดไว้ไปเป็นความรู้สึกที่สามารถยอมรับได้) การซัดโทษ (projection – การถ่ายเทความปรารถนาที่ไม่สามารถยอมรับได้ของตนเองไปยังบุคคลอื่น) และการชดเชย (sublimation – การเปลี่ยนความปรารถนาทางสัญญาติญาณที่ไม่สามารถยอมรับได้ของตนเองไปเป็นพฤติกรรมทางสังคมที่สามารถยอมรับได้)

ฟรอยด์ปรับปรุงทฤษฎีของเขาอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ 1920 และเปลี่ยนแปลงแง่มุมพื้นฐานส่วนหนึ่งของเขา เช่น ทฤษฎีแรงจูงใจและทฤษฎีวิตกกังวล ในปี 1923 เขาเป็นมะเร็งที่กราม (เกิดจากการสูบซิการ์อย่างหนักตลอดชีวิตของเขา) และเข้ารับผ่าตัดหลายครั้งตลอดระยะเวลา 16 ปีต่อมา การเกิดขึ้นของนาซีในทศวรรษ 1930 ทำให้ชีวิตในเวียนนาของฟรอยด์ไม่ปลอดภัยมากขึ้น ในปี 1938 เขาจึงอพยพไปยังกรุงลอนดอน เป็นเวลา 1 ปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต แนวคิดและทฤษฎีจำนวนมากของฟรอยด์ เช่น บทบาทของจิตไร้สำนึก ผลกระทบจากประสบการณ์ในวัยเด็กต่อพฤติกรรมในวัยผู้ใหญ่ และปฏิบัติการของกลไกป้องกันตัวเอง ยังคงเป็นแหล่งข้อมูลที่สร้างทั้งความขัดแย้งทางความคิดและแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลัง หนังสือเล่มอื่นๆ ของเขา ได้แก่ Totem and Taboo (1913) General Introduction to Psychoanalysis (1916) The Ego and the Id (1923) และ Civilization and Its Discontents (1930)

แปลจาก Gale Encyclopedia of Psychology หน้า 260 – 261

ใส่ความเห็น